นายแพทย์-ผู้ใหญ่บ้านใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวเลราไวย์ อช.สิรินาถย้ำทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ภูเก็ต - ชาวเลราไวย์ จำนวน 6 คน ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ทำการจับกุม หลังได้รับแจ้งจากเครือข่ายว่า มีเรือประมงลอยลำลักลอบจับสัตว์น้ำบริเวณหน้าหาดในทอน ได้รับการประกันตัว ยืนยันในความบริศุทธิ์ ด้านหัวหน้าอุทยานฯ ระบุชัดการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ มุ่งป้องปรามและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

เอกภพ ทองทับ

วันพุธ ที่ 10 มกราคม 2561, เวลา 13:48 น.

และพบเรือประมงตามที่ได้รับแจ้ง จึงได้แสดงตัวพร้อมทำการควบคุมชาวเลทั้ง 6 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กอายุ 14 ปี 1 คน ส่งพนักงานสอบสวน สภ.สาคู อ.ถลาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 61 ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่ม คลิก)

ทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการประกันตัวเมื่อเวลา 22.00 น. วันเดียวกัน โดยมีทางนายวรวิทย์ ศรีสาคูคาม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง และนายแพทย์วิชิต บุรพชนก แพทย์ประจำ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนสาคู ใช้ตำแหน่งในการประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดออกไป ยกเว้น 1 รายนายทะนงศักดิ์ เกาะงาม อายุ 41 ปี ที่มีอาการน้ำหนีบ (ร่างกายปรับตัวในความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้) ได้นำตัวส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระ

นายพิชิต บางจาก อายุ 43 ปี หนึ่งในชาวเลราไวย์ที่ถูกจับกุม เล่าว่า ตนพร้อมด้วยเพื่อนชาวเลอีก 5 คน ได้เดินทางออกจากชายหาดราไวย์เมื่อวันที่ 6 ม.ค. และไปถึงบริเวณทะเลเป้าหมายในพื้นที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา ในช่วงค่ำวันเดียวกัน หลังพักผ่อนก็ได้มีการลงดำน้ำหาปลาตามปกติ กระทั่งกลางคืนของวันที่ 7 ม.ค. หลานชาย คือ นายทะนงศักดิ์ รู้สึกมีอาการไม่ดี ในขณะที่ในกลุ่มเองก็มีอาการไม่ดี เนื่องจากดำน้ำซึ่งมีความลึกถึง 30 เมตร เป็นเวลานาน จึงตัดสินใจเดินทางกลับ

กระทั่งรุ่งเช้าของวันที่ 8 ม.ค. ขณะที่เริ่มเข้าสู่เขตทะเลของ จ.ภูเก็ต บริเวณหน้าหาดในทอน หลานชายบอกว่าอาการไม่ค่อยดี จึงได้หาจุดที่จะทิ้งสมอเรือ เพื่อให้หลานชายลงไปในน้ำ เพื่อปรับร่างกายบรรเทาอาการของน้ำหนีบ ก่อนที่จะถึงบ้านและไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ระหว่างที่หลานชายลงไปในน้ำ และมีเพื่อนชาวเลอีก 2 คนลงไปข้างเรือ ขณะที่บนเหลือมีกันอยู่ 3 คน โดยตนกำลังปรุงอาหาร เพื่อหลานชายขึ้นมาจากน้ำก็จะได้รับประทาน แต่ปรากฏว่าได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำเรือเข้ามาและให้หยุดการทำอาหาร พร้อมทั้งดึงตัวหลานชายซึ่งอยู่ในน้ำขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าผิดหลักการในการขึ้นจากน้ำ เนื่องจากร่างกายจะปรับอุณหภูมิไม่ทัน และจะยิ่งทำให้อาหารหนักขึ้น ซึ่งเมื่อทางเจ้าหน้าที่เข้ามาถึงก็ไม่ได้มีการสอบถามที่มาใดๆ และทำการรวบรวมสิ่งของต่างๆ บนเรือ พร้อมนำตัวไปยังที่ทำการอุทยานฯ บนฝั่ง และนำตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายพิชิต กล่าวยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานฯ เพราะรู้อยู่แล้วว่า มีความผิด เพียงแต่ต้องจอดเรือลอยลำและทอดสมอ เพื่อนำตัวหลานชายซึ่งมีปัญหาจากการดำน้ำให้ปรับสภาพร่างกาย ก่อนที่จะถึงบ้าน เพราะยังต้องใช้เวลาพอสมควร

ขณะที่นายสนิท แซ่ฉั่ว หนึ่งในชาวเลราไวย์ ซึ่งได้ไปร่วมให้กำลังใจผู้ที่ถูกควบคุมตัว กล่าวว่า ได้แจ้งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นไปยัง พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ทราบแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการช่วยเหลือชาวเลที่ถูกจับกุม

แต่เบื้องต้นทั้งหมดได้รับการประกันตัวเป็นการชั่วคราว โดยทางนายวรวิทย์ ศรีสาคูคาม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง และนายแพทย์วิชิต บุรพชนก แพทย์ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนสาคู ได้ใช้ตำแหน่งในการประกันตัวออกมา แนวทางในการสู้คดีก็คงต้องมีการรวบรวมหลักฐาน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มชาวเลไม่ได้เข้าไปจับปลาในเขตอุทยานฯ แต่เป็นการนำผู้ป่วยด้วยโรคน้ำหนีบได้ลงน้ำเพื่อปรับสภาพร่างกาย ซึ่งจะต้องใช้ระดับความลึกของน้ำประมาณ 20 เมตร  

ทั้งนี้ นายวิทูร เดชประมวลพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ กล่าวชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า บริเวณพื้นที่เกิดเหตุ คือ อ่าวหน้าหาดในทอน เป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณที่มีแนวปะการังค่อนข้างสมบูรณ์ โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่หวงห้ามมิให้มีการประมงหรือผ่อนปรน ซึ่งการจับกุมนั้น เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มิได้กลั่นแกล้งหรือกระทำการเกินกว่าเหตุ ให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มชาวเลดังกล่าวให้ได้รับความเดือดร้อน และปฏิบัติต่อกลุ่มชาวเลตามหลักมนุษยธรรม 

"อย่างไรก็ตามจากพฤติการณ์การกระทำผิดตามบันทึกการจับกุมนั้น ผู้ต้องหาทั้งคน 6 คน อ้างว่ารับจ้างเจ้าของเรือมาทำการจับสัตว์น้ำ และของกลางต่างๆ ที่พบไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ตามแนวปะการัง เช่น กุ้งมังกร ปลานกแก้ว ปลานกแก้วหัวโหนก เป็นต้น ขณะที่อุปกรณ์ของกลางในการกระทำผิดบางรายการเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัย มิใช่เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบดั้งเดิมตามวิถีชีวิตของชาวเล เช่น ชุด wetsuit และเครื่องปั้มอากาศ พร้อมสายยางท่ออากาศ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เป็นการดำเนินการป้องปรามและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ให้กลุ่มใดกลุ่ม หนึ่งได้ประโยชน์ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล" นายวิทูร กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่