มอบพื้นที่บางส่วนวัดพระนางสร้างคืนกรมศิลป์ วิศวกรเขียนแบบคืนสภาพวัดโบราณ

ภูเก็ต – ปิดตำนานองค์พระสูงตะหง่าน แห่งวัดพระนางสร้าง หลังจากเจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรเข้ารื้อถอนเป็นที่เรียบร้อย ก่อนส่งมอบพื้นที่บางส่วนคืนกรมศิลปากร สำหรับพื้นที่ของทางวัดมอบให้วิศวกรโยธาเขียนแบบเพื่อคืนสภาพวัดโบราณให้กับชาวภูเก็ต

เอกภพ ทองทับ

วันพฤหัสบดี ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561, เวลา 09:46 น.

วานนี้ (31 ม.ค. 61) เวลา 14.30 น. พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต นำโดยพระราชสิริมุนี เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต, พระครูเมตตาภิรม เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต, พระครูพรหมประภัสสร เจ้าคณะอำเภอถลาง รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยนายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต นายทวี หอมหวล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต นายปิยวัฒน์ จิรจามร นายกเทศมนตรีตำบลเทพกระษัตรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมสังเกตการณ์และวางแนวทางในการรื้อถอนรูปหล่อองค์พระความสูงกว่า 30 เมตร ที่ทางอดีตเจ้าอาวาสอ้างว่าเป็นองค์หลวงพ่อแช่ม วัดฉลองหรือวัยไชยธาราราม เกจิชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีการก่อสร้างไว้บริเวณหน้าวัดพระนางสร้าง

ภายหลังจากมีการร้องเรียนผ่านโซเซียลมีเดียว่า รูปหล่อหลวงพ่อแช่มดังกล่าว มีขนาดไม่สมส่วน (อ่านเพิ่มเติม คลิก) และเป็นสิ่งก่อสร้าง 1 ใน 17 รายการ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาวัดพระนางสร้าง ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะสงฆ์จังหวัดภูเก็ต มีมติให้ทำทุบทำลาย รื้อถอนและเคลื่อนย้ายไปยังจุดเหมาะสม ก่อนที่จะมีการภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณรอบวัดต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีการประกอบพิธีบวงสรวงตามหลักศาสนาและความเชื่อ ทั้งพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์ เพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก่อนทำการปรับภูมิทัศน์และปรับทัศนียภาพ รวมทั้งรื้อถอนและทุบทิ้ง เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ได้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบางรายการที่อยู่บริเวณรอบฐานองค์หลวงพ่อแช่มไปแล้ว เช่น อาคารเก๋งจีน รูปปั้นเซียน รูปปั้น รูปปั้นพระพิฆเนศ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติม คลิก) โดยในครั้งนี้ได้มีการนำเครื่องจักรหนัก เช่น รถแบ็คโฮ เป็นต้น และคนงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงภาคเอกชนในพื้นที่ มาร่วมกันวางแผนการรื้อถอนรูปหล่อองค์หลวงพ่อแช่ม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

เนื่องจากเป็นรูปหล่อที่มีขนาดใหญ่และมีความสูงหลายสิบเมตร เจ้าหน้าที่รื้อถอนจึงเริ่มจากการใช้ลวดสลิงรัดบริเวณมือซ้ายซึ่งถือไม้เท้าให้หักลงมา จากนั้นได้ใช้สายสลิงรัดในส่วนลำตัวท่อนบนเพื่อดึงให้ร่วงหล่นลงมา แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากสายสลิงมีขนาดเล็ก และระหว่างนั้นก็ได้มีฝนตกลงมาประมาณ 15 นาที จากนั้นได้เปลี่ยนแผนเป็นการนำสายสลิงรัดบริเวณมือขวาซึ่งถือพัดยศให้ร่วงลงมา โดยครั้งแรกไม่สำเร็จเนื่องจากสายสลิงขาด แต่สุดท้ายก็สามารถดำเนินการจนสำเร็จ ต่อจากนั้นได้วางแผนว่าจะใช้วิธีเดียวกัน เพื่อดึงในส่วนของศีรษะลงมา แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จเพราะสายสลิงขาดถึง 2 ครั้ง จึงได้มีการวางแผนกันใหม่ โดยใช้รถแบ็คโฮกะเทาะเอาส่วนของนิลและปูนที่เคลือบองค์พระออกและเจาะเสาค้ำซึ่งห่อไว้ด้วยเหล็กเส้นเพื่อยึดองค์พระไว้ออก จากนั้นก็ใช้รถแบ็คโฮกะเทาะพนักเก้าอี้ก่อนที่องค์พระจะพังลงมาทั้งองค์ ท่ามกลางสายตาประชาชนจำนวนมาก ที่มาคอยเฝ้าสังเกตการณ์และติดตามการรื้อถอน

นายวิญญา เปิดเผยว่า สำหรับนี้นับว่าเป็น ไฮไลต์ ของการรื้อหรือทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างภายในวัดพระนางสร้าง คือองค์หลวงพ่อแช่มขนาดใหญ่ โดยมีโยธาธิการจังหวัดกำกับดูแล ซึ่งผลการดำเนินการทุกอย่างสำเร็จ เป็นไปตามแผน ที่โยธาธิการกำหนดรายละเอียดวิธีการไว้ ซึ่งปลอดภัยและกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

สำหรับแนวทางหลังจากนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรนั้นจะทำการปรับพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบให้กรมศิลปากร ส่วนกรมศิลปากรจะดำเนินการอย่างไรต่อนั้นก็เป็นอำนาจของทางกรมฯ จะพิจารณา

ส่วนที่สอง ซึ่งเป็นพื้นที่ของวัดนั้น จะให้วิศวกรของโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดมาออกแบบแผนผัง หรือ มาสเตอร์แปลนให้ ก่อนจัดปรับปรุงให้คืนสู่สภาพดั้งเดิม ให้เป็นวัดประวัติศาสตร์สมัยที่ย่ามุกย่าจัน (ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ) เคยใช้เป็นกองบัญชาการการรบกับข้าศึก โดยจะมีคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่มาช่วยให้ข้อมูลเพื่อที่จะนำมาออกแบบและปรับสภาพให้ใกล้เคียงสมัยโบราณมากที่สุด

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่