แพทย์เตือนฝนตกระวัง ’โรคไข้เลือดออก’ แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ภูเก็ตมีอัตราป่วยสูงสุด

ภูเก็ต – สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนโรคไข้เลือดออก หลังมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูฝนและหลายพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 25 กรกฎาคม 2567, เวลา 15:57 น.

ภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

ภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 67 แพทย์หญิงดารินดา รอซะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผย สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 19 ก.ค. 67 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 5,853 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 10 - 14 ปี รองลงมาคือ 5 - 9 ปี และกลุ่มอายุ 15 - 19 ปี

จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภูเก็ต รองลงมาคือ สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร และระนอง ตามลำดับ

“ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1) เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2) เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย และ 3) เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ย้ำอย่าลืมนอนกางมุ้ง ทายากันยุง ป้องกันไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา” พญ.ดารินดา กล่าว

นอกจากนี้ขอความร่วมมือ/ คลินิก/ร้านขายยา หากพบผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก ไม่ให้ยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน แนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง สงสัยโรคไข้เลือดออก ได้แก่ มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา เป็นต้น

HeadStart International School Phuket

ในขณะที่ กรมควบคุมโรค โดย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรคเปิดเผยข้อมูลโรคไข้เลือดออกเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า เริ่มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน (โดยเฉพาะภาคเหนือ) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 10 ก.ค. 67 พบผู้ป่วย 44,387 ราย มากสุดในวัยเรียน มีผู้เสียชีวิต 43 ราย มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว

“4 เน้น 4 เดือน”

1) เน้นการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
2) เน้นการตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3) เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว
4) เน้นการสื่อสารงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก 

ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่