คณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน รับฟังข้อมูลการจัดการแรงงานข้ามชาติในภูเก็ต

ภูเก็ต - วันที่ 9 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมเจ้าฟ้า ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รอง ผวจ.ภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ตให้การต้อนรับ นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ นายกัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการฯ ในโอกาสเดินทางมาประชุมรับฟังข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการแรงงาน ข้อจำกัดและข้อท้าทายทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยการประชุมหน่วยงานต่างๆ ได้รายงานข้อมูลที่สำคัญดังนี้

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพุธ ที่ 10 มกราคม 2567, เวลา 12:00 น.

สำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ตรายงานข้อมูลสถิติการมีงานทำของแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ในจังหวัดภูเก็ต (ยอด ณ ธันวาคม 2566) ในปี 2564 มีจำนวน 62,222 คน ปี 2565 จำนวน 52,942 คน และ ปี 2566 จำนวน 61,485 คน โดยในปี 2566 สามารถจำแนกเป็น สัญชาติเมียนมาร์มากที่สุด ร้อยละ 97.84 รองลงมาเป็นสัญชาติลาว สัญชาติกัมพูชา และสัญชาติเวียดนาม แบ่งเป็นแรงงานประเภทกิจการก่อสร้างมากที่สุด รองลงมาเป็นประเภทการให้บริการต่างๆ และประเภทจำหน่ายอาหารและครื่องดื่ม ตามลำดับ

สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต ได้รายงานข้อมูลสภาพปัญหาในหลายประเด็น ดังนี้ 1. แรงงานข้ามชาติไม่ทราบว่านายจ้างที่แท้จริงคือใคร เนื่องจากมีการจ้างงานหรือจ่ายค่าจ้างเป็นช่วงๆ 2.แรงงานข้ามชาติลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายทำให้ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ์ของตน 3. แรงงานข้ามชาติไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ได้โดยลำพัง 4. แรงงานข้ามชาติไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายแรงงานไทยจึงไม่ทราบว่าตนได้รับสิทธิ์หรือไม่ได้รับสิทธิ์ใดตามกฎหมาย และ 5.แรงงานข้ามชาติไม่ต้องการกลับประเทศของตนจึงยินยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นแม้รู้ว่าตนจะไม่ได้รับสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้รายงานข้อมูลแผนการบริหารจัดการสุขภาพแรงงานต่างด้าวปี 2567 และข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตดังนี้ 1. ไม่มีล่ามในการช่วยสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวเพื่อเข้าถึงความต้องการของแรงงานต่างด้าวที่มารับบริการ โดยเฉพาะชาวเมียนมาร์เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงในการจ้างบุคลากร 2.ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจากแรงงานต่างด้าวบางรายได้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่หมดสติไม่มีพาสปอร์ตและไม่มีใบอนุญาตทำงานซึ่งนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายวัน 3. การขายบัตรประกันสุขภาพกรณีแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับจัดหางานจังหวัดหรือแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบแรงงานต่างด้าวเถื่อนเดินทางมาขอซื้อบัตรประกันสุขภาพ 4.การเคลมประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวในบางบริษัทไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายและไม่ครอบคลุมหน่วยบริการ และพบว่างบประมาณครอบคลุมเฉพาะงบดำเนินงานทำให้ไม่สามารถสนับสนุนครุภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการให้บริการได้

โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตแนะนำว่า เห็นควรผลักดันการรักษาพยาบาลของแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด ควรมีกองทุนประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวในกรณีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอนุญาตการทำงานของสำนักงานจัดหางาน (แรงงานเถื่อน) เกิดเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุกระทันหัน และการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวต้องเป็นบริการของโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น

โดยในส่วนของคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีข้อเสนอแนะขอให้จังหวัดภูเก็ตทำงานอย่างบูรณาการเพื่อดูแลแรงงานข้ามชาติให้เข้าสู่ระบบ ทั้งในด้านของการทำงานที่ถูกกฎหมาย และการได้รับบริการด้านสาธารณสุขตามที่กฎหมายกำหนด

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่