ปรับโควิด-19 สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง กลุ่มเดียวกับ โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก 1 ต.ค. 

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบปรับ ’โควิด-19’ จากโรคติดต่ออันตรายเป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ลำดับที่ 57 กลุ่มเดียวกับ โรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก มีผล 1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 11 สิงหาคม 2565, เวลา 19:04 น.

ภาพ องค์การอนามัยโลก

ภาพ องค์การอนามัยโลก

สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคที่ไม่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพรุนแรงเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก

พรบ.โรคติดต่อ ได้จัดกลุ่มโรคเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

โรคติดต่อทั่วไป กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้ออยู่ในระดับความรุนแรงต่ำอย่าง ไข้หวัด ท้องเสีย ซึ่งสามารถรักษา จ่ายยาตามอาการได้

โรคติดต่อเฝ้าระวัง กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงมากอย่าง ไข้เลือดออก ที่ปัจจุบันประชาชนมีความคุ้นเคย สามารถรักษาตามอาการได้

โรคติดต่ออันตราย : กลุ่มที่มีอาการความรุนแรงสูง รักษายาก และแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว มักเป็นโรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เป็นการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ อย่าง โรคซาร์ เป็นต้น

การปรับเปลี่ยนมาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไป

1 ก.ย. 65 กระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้โรงพยาบาลทุกสังกัดและคลินิกเวชกรรม สามารถจัดซื้อยาต้านไวรัสจากผู้ผลิตเองได้ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่จะซื้อยาดังกล่าวยังต้องเป็นการสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น

นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าถึงการรักษาโควิดผ่านระบบแพทย์ทางไกล Telemedicine อย่าง แอป Clicknic ที่ดูแลทั้งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและผู้ป่วย 608 ในขณะที่แอป MorDee Good Doctor ดูแลในส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการรักษาโควิด-19 ได้ผ่านระบบออนไลน์ โดยจะรักษาตามอาการและพิจารณาความรุนแรงเพื่อจ่ายยาให้ถึงบ้าน เป็นการเปิดโอกาสการรักษาอย่างครอบคลุม

มาตรการที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

การรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกสิทธิ ยังรักษาฟรีตามสิทธิทั้ง 3 กลุ่ม คือ สิทธิตามระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ

การฉีดวัคซีน ยังฉีดฟรีภายใต้คำแนะนำทางการแพทย์ โดยเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม (ประมาณ 4-6 เดือน) รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเสี่ยง 608 เข้ารับการฉีดเข็มกระตุ้น รวมถึงให้โรงพยาบาลพิจารณาการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ซึ่งกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ และกรุงเทพมหานครแล้ว

มาตรการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล Universal Prevention (ใส่หน้ากาก-อยู่ห่าง-ล้างมือ) และยังคงมีความสำคัญในการป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังพบการติดเชื้ออยู่ในระดับสูง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ได้เพิ่ม “ฝีดาษวานร” เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 นั้น พบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทยแล้ว 4 ราย ซึ่งประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทั้งที่สนามบิน สถานพยาบาล ชุมชนแหล่ง ท่องเที่ยว โดยได้มีการสั่งวัคซีนป้องกันฝีดาษมาใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และผู้มีความเสี่ยงสูงสัมผัสผู้ป่วย

ทั้งนี้ โรคโควิด-19 ยังคงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ในอนาคตอันใกล้อาจมีวัคซีนโควิดรวมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์อื่น ๆ ส่วนยารักษาอาจมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ประชาชนควรฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือนและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเอง ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น กินอาหารร้อนปรุงสุก ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งโรคโควิด-19 และฝีดาษวานร

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่