ภูเก็ตติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองปากบาง อบต.กมลาเตือนผู้ประกอบการปล่อยน้ำเสีย

ภูเก็ต - ช่วงเช้าวันนี้ (24 ส.ค.61) จังหวัดภูเก็ตประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต (กรอ.จังหวัดภูเก็ต) ติดตามความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองปากบาง ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม

ข่าวภูเก็ต

วันศุกร์ ที่ 24 สิงหาคม 2561, เวลา 13:42 น.

รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม คณบดีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รักษาการแทนรองอธิการบดี วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2561 ที่พบปัญหาน้ำเน่าเสีย (อ่านเพิ่มเติม คลิก) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำและดินตะกอนบริเวณหาดไตรตรังไปดำเนินการตรวจสอบ พร้อมทั้งได้มีการตรวจสอบลักษณะของปะการังอ่อนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสีย เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยพบว่า คราบตะกอนน้ำเสียที่ปกคลุมแนวปะการังอ่อนชนิด Sinularia sp. การปกคลุมของตะกอนจะไปบดบังแสงทำให้การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายที่อาศัยอยู่ร่วมกับปะการังอ่อนทำงานได้น้อยลง

ซึ่งปะการังอ่อนชนิดนี้สามารถทนต่อน้ำเสียและสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ ภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ติดตามศึกษาไม่พบความผิดปกติทางสัณฐานวิทยา ที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่า จากการศึกษาเก็บภาพถ่ายภายหลังน้ำเสียรอบแรกไหลลงสู่หาดไตรตรัง (6 กุมภาพันธ์ 2561) พบว่าปะการังอ่อนมีการหดตัวเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลกลายเป็นสีเขียวเทา, น้ำตาลเทาและพบรอยแผล แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ารอยแผลดังกล่าวเกิดจากน้ำเสียในครั้งนี้ เพราะรอยแผลไม่มากนักซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ได้ อนึ่งทิศทางของน้ำเสียที่ไหลเข้าหาดไตรตรังไม่ได้พาดผ่านแนวปะการังชนิดนี้โดยตรงเนื่องจากไม่พบคราบน้ำเสียในบริเวณนี้

รศ.ดร.พันธ์ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ได้มีน้ำเสียอีกรอบที่ไหลเข้าสู่หาดไตรตรัง โดยครั้งนี้ทิศทางของน้ำเสียไหลพาดผ่านแนวปะการังอ่อนทองหยิบ ซึ่งในช่วงดังกล่าวคราบตะกอนได้จมตัวลงและทับบนตัวปะการังก่อให้เกิดการฟอกขาวบนตัวปะการังในตำแหน่งที่ตะกอนทับ นอกจากนี้พบว่าปะการังมีการหดตัว โดยสรุปไม่พบการตายของปะการังอ่อนทองหยิบอันเนื่องมาจากน้ำเสียทั้ง 2 ครั้งพบเพียงความผิดปกติทางสัณฐานวิทยา

สำหรับการศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการบันทึกรายละเอียดผลกระทบของน้ำเสียต่อปะการังชนิดนี้ และการตรวจสอบเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ยังคงพบตะกอนที่เคลือบคลุมปะการังอ่อนชนิดนี้ แต่ไม่พบการตายหรือการติดเชื้อที่ลำตัว จนกระทั่งวันที่ 20 เมษายน 2561 สถานการณ์กลับมาเป็นปกติไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ กับตัวปะการัง

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียเป็นปัญหาที่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก โดยพบว่าปัญหาได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวให้ยังคงมีความสวยงามสะอาดอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่นอกจากจะทำการขุดลอกลำรางระบายน้ำแล้ว สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญคือการการกำจัดขยะที่จะไปอุดตันท่อและลำรางระบายน้ำต่าง ๆ โดยเมื่อเกิดฝนตกหนักองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำจุดเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อช่วยกันเก็บขยะที่จะไหลไปอุดตันในท่อและลำรางระบายน้ำโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะสามารถช่วยระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตก็จะพยายามผลักดันโครงการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย นายนรภัทร กล่าวทิ้งท้าย

ในขณะเดียวกัน องค์การบริหารส่วนตำบลกมลา ก็ได้ออกจดหมายแจ้งเตือนผู้ประกอบปล่อยน้ำเสียลงไปในทะเลแล้ว ภายหลังจากมีภาพคลองน้ำสีดำถูกเผยแพร่ในโลกโซเชียล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ อบต.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านผ่านทางไลน์ตาสับปะรด

นายนพพร กรุณา รองนายก อบต.กมลา เปิดเผยกับ The Phuket News วันนี้ว่า คนงานภายในสถานประกอบการได้ปล่อยน้ำเสียลงไปในทะเล เนื่องจากยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่สมบูรณ์

“คนงานปล่อยน้ำเสียลงในทะเลโดยปราศจากการเก็บกักไขมัน อย่างไรก็ตามทางเราได้ออกจดหมายแจ้งเตือนไปแล้วว่าให้ทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสัปดาห์หน้าทางอบต.จะลงพื้นที่ไปสำรวจระบบบำบัดน้ำเสียของกลุ่มผู้ประกอบการริมชายหาดอีกครั้ง” นายนพพร กล่าว

ข้อมูล: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต
รายงานเพิ่มเติม: ธัญลักษณ์ สากูต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่