ภูเก็ตบินสำรวจอ่างเก็บน้ำหลัก พบปริมาณน้ำยังน่าเป็นห่วง โปรดช่วยกันประหยัด

ภูเก็ต – สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต รายงาน น.ส.อัจฉริยา จันทรวงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ได้มีการจัดทำฝนหลวง เพื่อเติมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 3 แห่งของภูเก็ต ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ พบว่าปริมาณน้ำในบางวาดและคลองกะทะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนบางเหนียวดำปริมาณน้ำยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน 2562, เวลา 11:14 น.

ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

น.ส.อัจฉริยา ขอให้ประชาชนให้ช้ำน้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่ามากที่สุด อย่างไรก็ตาม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแผนในการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว

ในขณะเดียวกัน การประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต ขอให้ประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ เนื่องจากปริมาณน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการนำมาผลิตน้ำประปา ให้พอเพียงกับความความต้องการของประชาชนได้ (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ทางด้านนายแทนไทร์ พลหาญ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯได้ทำการปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 16 พ.ย. เนื่องจากภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับในช่วงต้น พ.ย. บางพื้นที่เริ่มมีผลกระทบจากฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก

ช่วงเย็นของวันที่ 31 ต.ค. ข่าวภูเก็ต รายงานเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ประชาชนในพื้นที่ตำบลกะรน และตำบลฉลองซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะภูเก็ต หลายร้อยครัวเรือนได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก ทางจังหวัดและท้องถิ่นต้องเร่งอพยพผู้คน พร้อมทั้งเข้าดำเนินการเยียวยาชาวบ้านที่เดือนร้อน (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทุกภัยในเวลาต่อมา

นายแทนไทร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. เป็นระยะเวลาของการตรวจซ่อมอากาศยานประจำปีของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรหลังจากที่เครื่องบินทุกลำได้บินปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานานถึง 8 เดือน เพื่อบำรุงรักษาอากาศยานให้พร้อมสมบูรณ์ สำหรับปฏิบัติงานสู้กับภัยแล้งในปี 2563 โดยทางกรมฯยังคงติดตามสภาพอากาศ วิเคราะห์แนวโน้มการเกิดฝน ติดตามสถานการณ์พื้นที่เกษตรและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้ 3 ชุด ที่จะสามารถบินปฏิบัติการในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันที หากมีการร้องขอรับบริการฝนหลวงและมีสภาพอากาศเอื้อต่อการทำฝน โดยจะประเมินด้วยว่าการปฏิบัติการฝนหลวงจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝน

สำหรับปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. เป็นต้นมา สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง มากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งมีฝนตกกระจายทั่วไปในพื้นที่การเกษตร

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่