รถไฟรางเบาภูเก็ต อัดงบเพิ่ม 10% จาก 4 หมื่นล้าน ขอเวลาปรับแบบ 6 เดือน คาดเปิดใช้ปี 67

ภูเก็ต - ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างการปรับแก้รูปแบบโครงการขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบาในบางจุด โดยเฉพาะบริเวณอุโมงค์ทางลอดแยกบางคู เนื่องจากพบปัญหาวิกฤตการจราจรหนาแน่น เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือนในการศึกษา ก่อนจะมีการสรุปกันอีกครั้งหนึ่งและแจ้งให้ประชาชนได้ทราบต่อไป ทั้งนี้ คาดว่ารูปแบบที่ต้องปรับแก้จะมีการเพิ่มงบประมาณอีกไม่เกิน 10% จากราคาเดิมที่ล่าสุดพุ่งชนเพดาน 4 หมื่นล้านไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2567

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพฤหัสบดี ที่ 20 มิถุนายน 2562, เวลา 16:14 น.

ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ยืนยันกระทรวงฯเปิดไฟเขียว งบประมาณไม่ใช่ปัญหา ภาพ จุฑารัตน์ เปลรินทร์

ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ยืนยันกระทรวงฯเปิดไฟเขียว งบประมาณไม่ใช่ปัญหา ภาพ จุฑารัตน์ เปลรินทร์

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. เดินทางจากกรุงเทพมหานครสู่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเข้าร่วมในโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพบสื่อมวลชน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) เพื่อกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายภัครพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าว

“สืบเนื่องมาจากเราใช้พื้นที่ในการก่อสร้างหลักของกรมทางหลวง คือถนนแผ่นดินหมายเลข 402 ซึ่งเป็นสายหลักจากพังงาสู่ภูเก็ต ซึ่งมีการจราจรหนาแน่นตลอดเวลา ซึ่งประเด็นนี้กรมทางหลวงมีความห่วงใยและเป็นกังวลมาก จนนำไปสู่การหารือในกระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปในการประชุมเมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) ซึ่งมีข้อยุติร่วมกันโดยหลักการคือ จะพยายามรักษาช่องจราจรให้เท่าเดิม โดยมีมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าอาจจะมีการกินพื้นที่ผิวจราจรเล็กน้อยในบางจุด แต่จะคงคุณภาพเส้นทางของกรมทางหลวงให้มีคุณภาพและความปลอดภัยไม่ต่างจากเดิม การดำเนินการของรถไฟฟ้าจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรรูปแบบเดิม หรือให้เกิดการรบกวนน้อยที่สุด” นายกาจผจญ กล่าว

ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ชี้ชัดว่า กระทรวงคมนาคมเปิดไฟเขียวโครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต งบประมาณไม่ใช่ปัญหา ปรับเปลี่ยนแผนงานได้ตามเห็นสมควร ขอเพียงดำเนินโครงการบนพื้นฐานของความปลอดภัยและให้ประชาชนผู้สัญจรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“ทางกระทรวงเห็นชอบแล้วว่าจะไม่นำงบประมาณมาเป็นข้อจำกัดในการดำเนินโครงการนี้ ในกรณีที่จะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบนแนวเส้นทางหรือวิธีการก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้งบประมาณที่จะอาจจะเพิ่มขึ้นจะไม่เป็นอุปสรรคในการทำให้โครงการเกิดความล่าช้า”

โอกาสนี้ นายกาจผจญ ได้ชี้แจงในที่ประชุมเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นจะมีการปรับเปลี่ยนบางส่วน ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะทำการปรับเปลี่ยนในจุดแยกสำคัญในจุดการจราจรหนาแน่นให้เป็นใต้ดิน โดยทางรฟม.จะได้ลงรายละเอียดในการศึกษา อาจจะต้องใช้เวลาในการสำรวจและออกแบบในการปรับแผนส่วนนี้ ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 4-6 เดือน จากนั้นจะได้ลงมาพูดคุยถึงความคืบหน้ากับชาวภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง

“แผนงานของรฟม.จะมีการขยับไปเล็กน้อย คาดว่าจะมีการดำเนินการเรื่องแบบและจะทำให้ EIA แล้วเสร็จประมาณต้นปีหน้า เพื่อจะนำเสนอครม. ซึ่งตามแผนแล้วน่าจะเริ่มการก่อสร้างในช่วงปลายปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี กำหนดเปิดบริการเฟสที่ 1 ประมาณช่วงปี 2567” เขากล่าว

อย่างไรก็ตามสำหรับมูลค่าโครงการที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้ จนกว่าจะมีการสรุปผลการศึกษาและออกแบบรอบใหม่ ระบุเพียงว่างบประมาณต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ไม่น่าจะเกิน 10% ในส่วนของงานโยธา เพื่อแก้ปัญหาในส่วนของจุดตัดรถ จะไม่กระทบกับอุโมงค์เดิมในเส้นทางกรมทางหลวง ในที่ประชุมนายกาจผจญได้ให้ตัวเลขมูลค่าโครางการล่าสุดอยู่ที่ “สามหมื่นเศษ ๆ”

ด้านนายนิรันด์ เกตุแก้ว ผอ.สำนักงานส่งเสริมระบบการขนส่งฯ (สนข.) กล่าวเสริมว่า ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้มีการใช้ถนนร่วมกันระหว่างรถรางและรถยนต์ ซึ่งในส่วนของคนภูเก็ตเองอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถให้สอดคล้องกับระบบรถราง เพื่อเป้าหมายแห่งการเดินทางที่สะดวกสบายและปลอดภัยสูงสุด

“หลายประเทศทั่วโลกใช้เส้นทางวิ่งร่วมกันระหว่างรางกับรถยนต์ แต่ของเราอาจจะต้องมีการปรับพฤติกรรม ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กติกา มารยาท ที่วางเอาไว้เพื่อความปลอดภัย เช่นในกรณีติดไฟแดงอาจจะให้สิทธิ์รถไฟฟ้าไปก่อน เพราะเป็นขนส่งมวลชนขนาดใหญ่” นายนิรันด์ กล่าว

“ที่ผ่านมามีคำถามมาที่ สนข.และกระทรวงคมนาคมอยู่บ่อยครั้ง ว่าในบริเวณที่มีรถติดอยู่แล้วเรานำรถไฟฟ้าลงมา มันจะไม่ติดมากกว่าเดิมหรือ ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่ายังติดเหมือนเดิม แต่ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่จะสะดวกและง่ายขึ้น และเมื่อประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประชาชนหันมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ ซึ่งระบบของกรุงเทพฯจะใหญ่กว่าภูเก็ตมากซึ่งมีคนใช้บริการนับล้าน ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารถข้างล่างจะไม่ติด แต่ประชาชนเลือกได้ และรถไฟฟ้าดีตรงที่จะตรงเวลา ถามว่าที่ภูเก็ตจะตรงเวลาหรือไม่ ในระยะแรกคงต้องมีการปรับตัว เนื่องจากต้องมีการแชร์เลนกับรถยนต์ และในเรื่องนี้ก็อยากจะขอฝากเอาไว้ว่าทุกอย่างต้องมีการปรับตัว” ผอ.สำนักงานส่งเสริมระบบการขนส่งฯ (สนข.) กล่าว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผอ.สนข. ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งได้บรรจุไว้ในมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP Fast Track มีการประเมินเงินลงทุนในโครงการที่ 40,000 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ซึ่งก่อนหน้านั้น สนข.ได้เปิดเผยมูลค่าโครงการอยู่ที่ 24,000 ล้านบาทเมื่อต้นปี 2560 (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ก่อนจะมีการปรับแก้รูปแบบของระบบรถไฟฟ้ารางเบา ทำให้มูลค่าการดำเนินโครงการเพิ่มเป็น 39,400 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ตามลำดับ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่