ตามที่องค์การสหประชาชาติได้ให้การรับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2542 นั้น ซึ่งในปี 2567 คณะกรรมการสมาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลกได้มีฉันทามติให้คณะสงฆ์ไทย รัฐบาลไทย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา เป็นเจ้าภาพจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในหัวข้อ “พุทธวิถีสู่การสร้างความไว้วางใจและความสามัคคี” ระหว่างวันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2567 โดยสถานที่จัดงานครั้งนี้ จะมีที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ศูนย์การประชุมนานาชาติ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ และพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 73 ประเทศ รวมทั้งไทย รวม 3,500 รูป/คน
กำหนดการจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ 19
วันที่ 19 พฤษภาคม 2567
• เวลา 09.00 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา
• เวลา 09.50 น. ชาวพุทธนานาชาติ และพุทธศาสนิกชน ผู้เข้าร่วมงานจะได้ร่วมกันประกอบพิธีถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567
• ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร มีการกล่าวสุนทรพจน์และอ่านสาส์นจากบุคคลสำคัญ จากนั้น มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พุทธวิถีสู่การสร้างความไว้วางใจและความสามัคคี”
• เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ชมขบวนแห่รถบุปผชาติและขบวนธรรมยาตรา
• เวลา 17.00 น. เจริญพระพุทธมนต์เป็นภาษาบาลี ภาษาจีน ภาษาทิเบตตามลำดับ
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567
• เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป รับฟังการแสดงธรรมเทศนาและสนทนาธรรมจากพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง
วันที่ 22 พฤษภาคม 2567
• เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระสงฆ์ จำนวน 100 รูป
• เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป พิธีทอดผ้าป่าพุทธมณฑล, พิธีจุดประทีปธรรม นำพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พิธีเวียนเทียนรอบพระประธานพุทธมณฑล, การแสดงธรรมเทศนา และการบรรยายธรรม
โอกาสนี้ ขอเชิญชวนคนไทยพร้อมใจกันต้อนรับชาวพุทธทั่วโลก ที่เเสดงออกถึงความศรัทธาทางพุทธศาสนา ให้สมกับที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น
“ศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของโลก” รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ชาวโลกเห็นเป็นประจักษ์ โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้มาจัดร่วมกัน ครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นการแสดงถึงความแน่นเเฟ้นของทั้งสามสถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์