เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 67 แพทย์หญิงดารินดา รอซะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผย สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 19 ก.ค. 67 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 5,853 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 10 - 14 ปี รองลงมาคือ 5 - 9 ปี และกลุ่มอายุ 15 - 19 ปี
จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภูเก็ต รองลงมาคือ สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร และระนอง ตามลำดับ
“ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1) เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2) เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย และ 3) เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ย้ำอย่าลืมนอนกางมุ้ง ทายากันยุง ป้องกันไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา” พญ.ดารินดา กล่าว
นอกจากนี้ขอความร่วมมือ/ คลินิก/ร้านขายยา หากพบผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก ไม่ให้ยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน แนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง สงสัยโรคไข้เลือดออก ได้แก่ มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา เป็นต้น
ในขณะที่ กรมควบคุมโรค โดย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรคเปิดเผยข้อมูลโรคไข้เลือดออกเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า เริ่มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน (โดยเฉพาะภาคเหนือ) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 10 ก.ค. 67 พบผู้ป่วย 44,387 ราย มากสุดในวัยเรียน มีผู้เสียชีวิต 43 ราย มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว
“4 เน้น 4 เดือน”
1) เน้นการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
2) เน้นการตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3) เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว
4) เน้นการสื่อสารงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก
ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422