ทช.ทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติช่วยพะยูนภูเก็ตในสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม

ภูเก็ต - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติ เพื่อเป็นอาหารเสริมให้กับพะยูนในสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม บริเวณแหล่งหญ้าทะเลท่าเทียบเรือหาดราไวย์ ภูเก็ต

ข่าวภูเก็ต

วันพุธ ที่ 6 พฤศจิกายน 2567, เวลา 16:00 น.

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 67 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เริ่มทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติ เพื่อเป็นอาหารเสริมให้กับพะยูนในสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม บริเวณแหล่งหญ้าทะเลท่าเทียบเรือหาดราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยจัดวางแปลงด้านข้างของสะพานท่าเทียบเรือหาดราไวย์ในช่วงเวลาน้ำทะเลลงต่ำสุด ซึ่งเป็นบริเวณใกล้แหล่งหญ้าทะเลเดิมที่พะยูนเข้ามาหากิน ในแนวขนาดกับสะพาน ด้านละ 2 แปลง ขนาดแปลงละ 1 ตารางเมตร รวมจำนวน 4 แปลง

โดยใช้ผักแปลงละ 1 ชนิด ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า และผักกาดขาว เพื่อทดสอบชนิดผักที่พะยูนมีความสนใจ หลังจากนั้นมีการติดตามผลในช่วงเวลาน้ำขึ้น โดยการบินสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสำรวจการเข้ามากินอาหารของพะยูน เบื้องต้นพบพะยูนเข้ามาหากินในบริเวณดังกล่าวจำนวน 1 ตัว แต่ไม่ได้เข้ามากินผักในแปลงทดลอง ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฯ จะติดตามผลการดำเนินงาน และพัฒนาแนวทางการเสริมอาหารให้กับพะยูนในช่วงสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับแจ้งเหตุการเกยตื้นของพะยูน (1-24 ต.ค. 67) จำนวนทั้งสิ้น 8 ตัว โดยแบ่งเป็นเกยตื้นมีชีวิตจำนวน 1 ตัว ที่จังหวัดตรัง ซึ่งเสียชีวิตในวันต่อมา และซากเกยตื้น จำนวน 7 ตัว ประกอบด้วย ซากสด 1 ตัว และซากเน่า 6 ตัว โดยจังหวัดที่พบการเกยตื้น ได้แก่ ภูเก็ต 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว ตรัง 2 ตัว และสตูล 3 ตัว จากการชันสูตรพบว่าเป็นพะยูนเพศผู้ 4 ตัวและเพศเมีย 4 ตัว

ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ประมงและกลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบซากพะยูนตายถูกคลื่นซัดมาติดซอกหินบริเวณใกล้หาดกะรน หลังจากรับแจ้งจึงเดินทางไปตรวจสอบและเคลื่อนย้ายมายังศูนย์ฯเพื่อจะทำการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุของการตาย ซึ่งนับว่าเป็นพะยูนตัวที่ 3 ในรอบเดือน ซึ่งไม่เคยพบปรากฎการณ์การตายของพะยูนเช่นนี้มาก่อน

BAAN KRU JAY INTERNATIONAL KINDERGARTEN

และก่อนหน้านั้น (23 ต.ค.) ภูเก็ตมีรายงานพบซากพะยูน-เต่าหญ้าถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยที่บริเวณหาดกมลา หลังพบซากพะยูนอีกตัวเพียงไม่กี่วัน และเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ชาวประมงได้พบซากพะยูนเพศผู้โตเต็มวัย น้ำหนักกว่า 150 กก. ความยาวกว่า 2 เมตรเศษ ไม่ทราบสาเหตุลอยอืดอยู่ในทะเล บริเวณชุมชนท่าจอดเรือประมงท่าต้นโด บ้านคอเอน

ที่มา: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง



 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่