3.5 พันล้าน พัฒนาระบบน้ำภูเก็ต รองรับความต้องการใช้น้ำในอีก 10 ปีข้างหน้า

ภูเก็ต - การประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต เตรียมเสนอของบประมาณ 3,500 กว่าล้านบาทจากรัฐบาล เพื่อใช้ลงทุนในโครงการก่อสร้างและปรับปรุงขยาย ระบบประปาการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา และการประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 20 กรกฎาคม 2562, เวลา 09:00 น.

นายไกรสร มะหะหมัด ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต เปิดเผยกับ The Phuket News สืบเนื่องจากประชากรในจังหวัดภูเก็ตมีความต้องการน้ำมากขึ้น ดังนั้น การประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต จึงมีความต้องการกำลังการผลิตเพิ่มอีกขนาด 123,476 ลบ.ม./วัน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอีก 10 ปีข้างหน้า

เพราะจากข้อมูลความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ของ กปภ.สาขาภูเก็ต เพิ่มขึ้นตามลำดับ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ต มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่น หรือสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม ส่งผลให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เดินทางมาเป็นจำนวนมาก ทำให้การขยายตัวของชุมชน และธุรกิจด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จึงกำหนดให้มีโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปา กปภ.สาขาพังงา - ภูเก็ต จากอำเภอเมือง - อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต วงเงินงบประมาณรวม 3,517,785,000 บาท โดยแบ่งระยะการลงทุนเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 ลงทุนก่อสร้างโครงการฯ ปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2,597 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสถานีผลิตน้ำขนาด 3,000 ลบ.ม./ชม. โดยใช้น้ำดิบจากคลองพังงา ผลิตเป็นน้ำประปาเพื่อส่งจ่ายไปยังพื้นที่จ่ายน้ำของ กปภ.สาขาภูเก็ต

สำหรับส่วนงานก่อสร้างในระยะแรกมีส่วนงานที่ต้องดำเนินการ 3 ส่วน งานที่ 1 จะเป็นงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำดิบและสถานีผลิตน้ำขุมเหมืองและวางท่อส่งน้ำ งบประมาณ 846.266 ล้านบาท ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำไม้ขาวและวางท่อส่งน้ำ ใช้งบประมาณ 889.468 ล้าน และส่วนที่ 3 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำสถานีจ่ายน้ำไม้ขาวและวางท่อส่งจ่ายน้ำ 861.266 ล้านบาท รวมวงเงินงบประมาณระยะแรก 2,597 ล้านบาท

ระยะที่ 2 โครงการฯ ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 920.785 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสถานีผลิตน้ำเดิมในระยะที่ 1 จากขนาด 3,000 ลบ.ม./ชม. เป็น5,000 ลบ.ม./ชม. โดยใช้น้ำดิบจากคลองพังงา ผลิตเป็นน้ำประปาเพื่อส่งจ่ายไปยังพื้นที่จ่ายน้ำของ กปภ.สาขาภูเก็ต

นายไกรสร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตามแผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต จำเป็นต้องมีการจัดหาที่ดินจำนวน 4 แปลง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจัดหาที่ดินขนาดร้อยกว่าไร่ เพื่อใช้ในการก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำและสระสำรองน้ำดิบ

โดยวางแผนการเตรียมความพร้อมทางด้านที่ดิน ดังนี้ ระยะที่ 1 สถานีจ่ายน้ำไม้ขาว จัดหาที่ดินประมาณ 5-10 ไร่ บริเวณ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ส่วนระยะที่ 2 กำลังจัดหาที่ดินประมาณ 100 ไร่ บริเวณ ต.นบปริง อ.เมือง จ.พังงาเพื่อก่อสร้างสระสำรองน้ำดิบ, จัดหาที่ดินประมาณ 5-10 ไร่ บริเวณ ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เพื่อก่อสร้าง สถานีจ่ายน้ำกะไหล และจัดหาที่ดินประมาณ 5-10 ไร่ บริเวณ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำป่าคลอก

ปัญหา/อุปสรรค
นายไกรสร มองว่าโครงการนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่ในระดับหนึ่ง เนื่องจากคลองพังงา มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาในฤดูฝน (ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม) ส่วนในฤดูแล้งช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษยน ระดับน้ำในคลองพังงาจะลดต่ำลง เนื่องจากมีฝนตกค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องมีสระเก็บน้ำ เพื่อสำรองน้ำดิบไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ รวมถึงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อจำกัด/กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม, ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และต้องมีการศึกษาครอบคลุมองค์ประกอบ 4 ด้าน คือทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณภาพชีวิต

สำหรับโครงการ วางท่อส่งน้ำดิบความยาว 185 กม. จากเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานีมายังเกาะภูเก็ต เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่อย่างยั่งยืนในปี 2550 ที่ทางคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ในวงเงิน 32 ล้านบาท นายไกรสร ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากไม่ผ่านขั้นตอน EIA

ยื่นของบ 227 ล้าน เพื่อซื้อน้ำจากขุมน้ำเอกชน
นายไกรสร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำของจังหวัดภูเก็ตยังคงน่าเป็นห่วง และยังเรียกร้องให้ประชาชนประหยัดน้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากระดับน้ำดิบในในอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำแม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน และมีแนวโน้มจะทำให้น้ำดิบไม่เพียงพอกับการนำน้ำมาผลิตน้ำประปา

และเพื่อเป็นการหาวิธีรองรับเตรียมแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง กปภ.สาขาภูเก็ต ได้ยื่นของบประมาณ 227.34 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อน้ำจากขุมน้ำของเอกชน 3 แห่ง เพื่อให้เพียงพอแก่การแจกจ่ายน้ำประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณจำนวนดังกล่าว กปภ.สาขาภูเก็ต ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

แม้ว่าเมื่อเดือนเมษายนของปี 2562 ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดภูเก็ตจะลดต่ำที่สุด จากสถิติของที่ กปภ.ได้เคยบันทึกเอาไว้ (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ทางด้าน ผจก.กปภ.ภูเก็ต ก็ยังมั่นใจว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ยังมีเพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับประชาชนในระยะ 1 เดือนต่อจากนี้

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่