ทช. ลงพื้นที่หาดกะรนตรวจสอบการก่อสร้างเขื่อนดูรา-โฮลด์ ชี้ควรยุติ กะรนยันสร้างต่อ

ภูเก็ต – เมื่อวันพุธ (21 พ.ย. ) ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยสำนักงานบริหาร ทช.ที่ 9 ภูเก็ต พร้อมด้วยนายอำเภอเมืองภูเก็ต เทศบาลตำบลกะรน และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมหารือและหาทางออกร่วมกัน กรณีก่อสร้างเขื่อนดูรา -โฮลด์ บริเวณหน้าหาดกะรน พร้อมกับได้ลงพื้นที่สำรวจ และร่วมลงความเห็นกันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหาดสมดุล ไม่ควรมีการดำเนินการก่อสร้างใด ๆ

ธัญลักษณ์ สากูต

วันศุกร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2561, เวลา 18:00 น.

เว็บไซต์ ทช.ระบุว่า คณะทำงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้าง พบว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์และสาธารณูปโภคบริเวณหนองหาน และเป็นการป้องกันดินในพื้นที่ไหลลงสู่ทะเล โดยโครงสร้างมีความยาวทั้งหมด 470 เมตร ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 280 เมตร โดยได้ลงความเห็นร่วมกันว่า พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหาดสมดุล ไม่ควรมีการดำเนินการก่อสร้างใด ๆ ในพื้นที่หน้าหาดเกินจากแนวเส้นชายฝั่ง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งในระยะยาวได้

ทั้งนี้ The Phuket News รายงานว่า เขื่อนกันคลื่นดังกล่าว เป็นโครงการของทต.กะรน งบประมาณในการก่อสร้าง 22.4 ล้านบาท ซึ่งได้ถูกสั่งระงับโดย สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค 5 สาขาภูเก็ต เมื่อปลายปี 2559 จนกว่าทางเทศบาลจะขออนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องจากกรมเจ้าท่า (อ่านรายงานข่าว The Phuket News คลิก)

อย่างไรก็ตาม ทช.กล่าวว่า หากว่าเทศบาลตำบลกะรนยังดำเนินการต่อไป จะต้องมีมาตรการในการติดตามและฟื้นฟูพื้นที่ที่เกิดการกัดเซาะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากโครงสร้างดังกล่าวตามแนวทางของ ทช. เช่น การเสริมทรายชายหาด หรือทำโครงสร้างชั่วคราวดักตะกอนบริเวณปลายโครงสร้างแข็ง และปรับความชันของสันทรายบริเวณหน้าโครงสร้างให้คล้ายคลึงกับสันทรายชายหาดตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการปรับปรุงแบบโครงสร้างที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง อีกประมาณ 190 เมตร โดยให้ปรับเปลี่ยนแนวโครงสร้างให้อยู่หลังแนวเส้นชายฝั่ง ให้คำนึงถึงความสมดุลตามลักษณะธรณีสัณฐานของหาด พร้อมทั้งปรับความชันของเนินทรายหน้าโครงสร้างทั้งหมดให้อยู่ในระดับเดียวกันหรืออยู่สูงกว่าโครงสร้าง เพื่อเป็นแนวชะลอความรุนแรงของคลื่นในฤดูมรสุม

ในเรื่องนี้ นายวันชัย แซ่ตัน ผู้อำนวยการกองช่าง กล่าวว่า ทางเทศบาลยืนยันจะดำเนินการก่อสร้างทำเขื่อนจนแล้วเสร็จ โดยจะปรับเปลี่ยนแนวกำแพงให้อยู่หลังเส้นชายฝั่ง และทำการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวตามแนวทางของ ทช. ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจนแล้วเสร็จในวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย. นี้

สำหรับกรณีการสร้างเขื่อนบริเวณชายหาดนั้นได้เคยมีกรณีพิพาทอยู่หลายครั้งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านราไวย์ได้ร้องให้ภาครัฐยุติการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น และขอให้มีการรื้อถอนเขื่อน (อ่านเพิ่มเติม คลิก)  

และเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะที่ปรึกษาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ทช. พร้อมเจ้าหน้าที่จาก ทช., นายสุทา ประทีป ณ ถลาง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต และชาวบ้านหาดสุรินทร์ เดินสำรวจบริเวณชายหาดสุรินทร์ที่กำลังจะมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมกับย้ำว่าโครงการสร้างเขื่อนคือการทำลายทรัพยากรชายฝั่งอย่างรุนแรง (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ภายหลังจากเหตุการณ์ที่มีชาวบ้านหลายสิบรายรวมตัวกันที่หาดสุรินทร์ทวงถามข้อมูลการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเหตุให้โครงการดังกล่าวได้ถูกสั่งระงับเป็นการชั่วคราวจากโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่