อย.เตือนซ้ำฟอร์มาลินอันตราย หากไม่มั่นใจ ไม่กิน! แนะวิธีสังเกตเลี่ยงอาหารฟอร์มาลิน

เพจสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้โพสต์ แนะนำวิธีตรวจสอบ หรือเลี่ยงอาหารที่มักผสมฟอร์มาลิน จากกระแสข่าวทลายแหล่งลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินรายใหญ่ (จ.ชลบุรี) ส่งขายร้านหมูกะทะและร้านอาหารอีสาน

ข่าวภูเก็ต

วันพุธ ที่ 7 ธันวาคม 2565, เวลา 10:01 น.

4 วิธีเลี่ยงสารอันตรายฟอร์มาลิน:

  • อาหารสดเมื่อดมกลิ่นจะต้องไม่มีกลิ่นฉุน แสบจมูก
  • ผักผลไม้ที่ยังดูสด ไม่เหี่ยวทั้ง ๆ ที่วางขายมาตลอดทั้งวัน
  • เนื้อสัตว์สดที่มีสีเข้ม และสดผิดปกติทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แช่เย็น
  • ก่อนนำอาหารสดมาปรุงควรล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้งนำมาล้างน้ำ

ทั้งนี้ อาหารที่พบสารฟอร์มาลิน ได้แก่ อาหารทะเลสด เช่น กุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก และผักสด ผลไม้สด รวมถึงเนื้อสัตว์สด เป็นต้น หากไม่มั่นใจไม่ควรนำมาบริโภค

ก่อนหน้านี้ นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูล “ฟอร์มาลิน” มีส่วนประกอบหลัก คือ ฟอร์มาลดีไฮด์ 37% ลักษณะเป็นน้ำใส ไม่มีสี กลิ่นฉุน และมีฤทธิ์ระคายเคือง โดยทั่วไปมีไว้เพื่อการฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ทำให้สิ่งของบางอย่างขึ้นรูปและคงรูปอยู่ ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ในการเกษตร ใช้ในทางการแพทย์ ใช้ในเครื่องสำอางค์ ซึ่งปัจจุบันมีการนำมาใช้ผิดประเภท คือ ใส่ในอาหารโดยเฉพาะพวกอาหารทะเลที่เน่าเสียไว ซึ่งฟอร์มาลินก่อให้เกิดอันตรายมากมาย เมื่อทานอาหารที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลินเข้าไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณ

“ฟอร์มาลิน” แค่ได้กลิ่นก็จะมีอาการฉุน แสบคอ เกิดอาการผิดปกติต่อระบบทางเดินหายใจได้แล้ว บางคนทานเข้าไปจนเกิดอาเจียน เสียเลือดมากจนถึงขั้นเสียชีวิตก็มี เพราะทางเดินอาหารเกิดการไหม้จากสารฟอร์มาลินที่มีความเป็นกรด หรือเมื่อได้รับในปริมาณที่เข้มข้นก็จะทำให้เลือดเป็นกรด เกิดภาวะช็อค ความดันตก และตามมาด้วยการเสียชีวิต

วิธีสังเกตในการเลือกซื้ออาหารสด หรือตรวจสอบว่ามีสารฟอร์มาลินหรือไม่:

โดยดูว่าร้านนั้น ๆ มีกลิ่นฉุนของสารเคมีแปลก ๆ หรือเปล่า ขอยกตัวอย่างกุ้ง หากเนื้อกุ้งมีทั้งส่วนที่แข็งสด และมีส่วนที่เปื่อยยุ่ยในตัวเดียวกัน แสดงว่าต้องมีการแช่ฟอร์มาลินมาอย่างแน่นอน ให้หลีกเลี่ยงในการซื้อมาบริโภค เพราะหากเป็นอาหารสดต้องสดเสมอกัน ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเปื่อยหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแข็งสด

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ / สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่